ในโลกนี้มีระบบการเขียนอยู่สองประเภท คือ

1. ระบบการเขียนที่แสดงการออกเสียง ระบบการเขียนของภาษาเกือบทุกภาษาในโลกใช้ระบบการเขียนประเภทนี้ ซึ่งเป็นระบบการเขียนที่แสดงการออกเสียงโดยตรงถ้าเรียนตัวอักษรครบแล้วก็จะออกเสียงได้เกือบทั้งหมด (ถึงแม้อาจจะยังไม่รู้ความหมายก็ตาม) แต่รูปร่างของตังอักษาไม่ได้แสดงความหมายแต่อย่างใด อย่างเช่นภาษาไทย ภาษาอังกฤษ

2. ระบบการเขียนที่แสดงความหมาย ประเทศหรือชนเผ่าที่ใช้ระบบการเขียนประเภทนี้มีน้อยมาก เช่น จีน อียิปต์ และชนเผ่าเล็ก ๆ บางเผ่าที่ไม่เป็นที่รู้จักกันของคนทั่วไป(แต่อียิปต์ได้หันมาใช้ระบบการเขียนที่แสดงการออกเสียงมานานแล้ว) ระบบการเขียนประเภทนี้อาศัยรูปร่างของตัวอักษรแสดงความหมาย คือในช่วงแรก ตัวอักษรแต่ละตัวเกิดจากการวาดภาพ ซึ่งเราเรียกว่า อักษรภาพ (象形文字 xiàngxíngwénzì)แต่ตัวอักษรเองไม่ได้แสดงให้เห็นว่าควรจะออกเสียงอย่างไร

ระบบการเขียนของภาษาจีน(ตัวหนังสือจีนหรืออักษรจีน) เกิดจากการวาดภาพของคนโบราณในสมัยดึกดำบรรพ์ ต่อมาได้พัฒนาขึ้นมาเป็นระบบการเขียนที่สมบูรณ์เมื่อประมาณ 4000 ปีก่อน อักษรภาพอาศัยรูปร่างของตัวอักษรแสดงความหมาย กล่าวคือ ในช่วงเริ่มแรกที่ระบบการเขียนกำเนิดขึ้นมา อักษรภาพส่วนใหญ่เห็นแล้วก็พอ จะรู้ว่าหมายความว่าอะไร เพราะเหมือนของจริงมาก ดังนั้นระบบการเขียนของภาษาจีนจึงเป็นระบบการเขียนที่แสดงความหมาย

แต่เพื่อทำให้การเขียน การใช้งานสะดวกรวดเร็วมากยิ่งขึ้น ในช่วงหลายพันปีที่ผ่านมานี้ อักษรภาพได้เกิดการเปลี่ยนแปลงอย่างมาก ส่วนใหญ่เป็นการลดจำนวนเส้นขีดให้น้อยลง และหันมาใช้เส้นตรงแทนเส้นโค้งที่เขียนยาก ดังนั้นอักษรภาพทั้งหมดจึงค่อย ๆ เปลี่ยนไปในที่สุด จนกลายเป็นเครื่องหมายการเขียนไปแล้วอย่างเต็มตัว คือ ตัวหนังสือจีนที่ใช้อยู่ในปัจจุบันนี้เกือบทั้งหมด ไม่สามารถทำให้คนที่ไม่เคยเรียนภาษาจีนรับรู้ความหมายจากรูปร่างของตัวอักษรอีกต่อไป คงเหลือแต่ส่วนน้อย ๆเท่านั้นที่ยังคงทิ้งร่องรอยของอักษรภาพค่อนข้างชัดเจนจนถึงทุกวันนี้ อย่างเช่น

วิธีประดิษฐ์ตัวหนังสือจีนมีอยู่ 4 วิธีด้วยกันดังนี้

1. อักษรภาพ (象形字 xiàngxíngzì) เป็นการวาดภาพจากของจริงอย่างชัดเจน เกือบทั้งหมดเป็นตัวหนังสือเดี่ยว เช่น

ตัวหนังสือประเภทนี้เป็นตัวหนังสือที่เก่าแก่ที่สุด ถึงแม้ว่ามีจำนวนแค่ประมาณ 5 เปอร์เซ็นต์ของตัวหนังสือที่ใช้บ่อยในปัจจุบันนี้ แต่ถือว่าสำคัญที่สุด เพราะเกือบทั้งหมดถูกนำไปใช้เป็นส่วนประกอบของตัวหนังสือผสมที่ประดิษฐ์ขึ้นในภายหลัง ตัวหนังสือประเภทนี้เป็นตัวหนังสือที่เข้าใจง่ายและสนุกสนาน คนที่เพิ่งเรียนภาษาจีนใหม่ ๆ ควรจะเรียนรู้ตัวหนังสือจีนจากส่วนนี้ก่อนเพราะเป็นพื้นฐานที่จะนำไปสู่การเข้าในระบบการเขียนของภาษาจีนอย่างถูกต้องและถ่องแท้

2. เครื่องหมายที่เป็นนามธรรม (指事字 zhǐshìzì) ใช้เครื่องหมายที่เป็นนามธรรมแสดงความหมาย เกือบทั้งหมดเป็นตัวหนังสือเดี่ยว และบางส่วนเกิดจากการผสมผสานระหว่างเครื่องหมายที่เป็นนามธรรมกับตัวอักษรภาพ เช่น

ตัวหนังสือประเภทนี้มีไม่มาก ส่วนใหญ่ใช้ในการแสดงความหมายที่เป็นนามธรรมหรือไม่มีตัวตน ถึงแม้ว่ามีตัวตน แต่ก็ยากที่จะใช้ภาพที่วาดจากจินตนาการของจริงมา แสดงความหมายได้

3. ตัวผสมแสดงความหมาย (会意字 huìyìzì) ส่วนใหญ่เป็นการรวมตัวหนังสือเดี่ยว (หรือส่วนประกอบของตัวหนังสือ) สองตัว หรือสองตัวขึ้นไป ให้เป็นตัวหนังสือใหม่อีกตัวหนึ่งเพื่อแสดงความหมายใหม่ ซึ่งทั้งหมดต้องอาศักการเชื่อมโยงความหมายระหว่างตัวหนังสือเดี่ยว (หรือส่วนประกอบของตัวหนังสือ) แต่ละตัว แต่ ส่วนใหญ่จะเข้าใจไม่ยาก เช่น

ตัวหนังสือประเภทนี้มีจำนวนมาก ทั้งหมดเป็นตัวผสม

4. ส่วนหนึ่งบอกความหมาย อีกส่วนหนึ่งบอกการออกเสียง (形声字 xíngshēngzì) ทั้งหมดเป็นตัวหนังสือผสม ใช้ตัวหนังสือเดี่ยว (หรือส่วนประกอบของตัวหนังสือ) สองตัวขี้นไป เป็นส่วนประกอบของตัวหนังสือใหม่ โดยมีส่วนหนึ่งทำหน้าที่บอกความหมาย และอีกส่วนหนึ่งทำหน้าที่บอกเสียง เช่น

ปัจจุบันนี้ตัวหนังสือจีนประเภทนี้มีมากกว่า 80 เปอร์เซ็นต์ของตัวหนังสือจีนทั้งหมด

ในช่วงแรกที่เรียนภาษาจีนควรพยายามจดจำตัวหนังสือที่มาจากอักษรภาพ เพราะเกือบทั้งหมดเป็นตัวเดี่ยว เขียนง่าย และมีจำนวนไม่มาก แต่ถูกนำมาใช้เป็นส่วนประกอบของตัวหนังสือประเภทอื่น ๆ อย่างกว้างขวาง ดังนั้นการเข้าใจตัวหนังสือประเภทนี้ไม่เพียงแต่สามารถทำให้นักเรียนสร้างความคุ้นเคยกับตัวหนังสือจีนได้เร็วขึ้นและเข้าในระบบการเขียนของภาษาจีนให้ลึกซึ้งยิ่งขึ้น ยังทำให้รู้สุกสนุกสนานแบะเพลิดเพลิดกับระบบการเขียนแปลกใหม่ชนิดนี้ และที่สำคัญที่สุด ยังสามารถช่วยให้ผู้เรียนจำตัวหนังสือตัวอื่น โดยเฉพาะตัวหนังสือผสมได้ง่ายขึ้นอีกด้วย

ภาษาจีนกับภาษาไทย

คนไทยเราได้เปรียบมาก ๆ ในการเรียนภาษาจีน การที่จะเรียนให้ถึงขั้นที่พอจะพูดได้ในเรื่องราวทั่วไปที่เกี่ยวกับชีวิตประจำวันและการทำงานนั้นค่อนข้างง่าย เพราะในขั้นนี้ยังถือว่าเป็นภาษาพูด (口语 kǒuyǔ) เกือบทั้งหมด และส่วนที่คล้ายคลึงกันระหว่างภาษาจีนกับภาษาไทยจะช่วยเราได้เยอะ ท่านจะไม่รู้สึกว่าการเรียนการใช้ภาษาจีนจะฝืนความเคยชินในการใช้ภาษาแม่ของตน คือภาษาไทยมากเกินไป แต่ถ้าถึงขั้นที่จะนำเอาความรู้ภาษาจีนมาทำมาหากินหรือประกอบอาชีพนั้น คงต้องใช้ความขยัน ความพยายาม และความอดทนพอสมควร เพราะระดับนี้จะเกี่ยวข้องกับภาษาเขียน (书面语 shūmiànyū) เยอะมาก มันเป็นส่วนที่สืบทอดมาจากภาษาจีนโบราณ ซึ่งมีระบบการเขียนที่สมบูรณ์แบบและใช้มาแล้วไม่ต่ำกว่า 4000 ปี คำพูดและสำนวนต่าง ๆ ยังตกตะกอนอยู่ในภาษาเขียนของปัจจุบันนี้เป็นจำนวนมาก

คำว่า “ภาษา” ที่กำลังพูดถึงนี้ ที่จริงมีส่วนประกอบสามส่วนคือ 1.ระบบการออกเสียง (语音系统 yǔyīnxìtǒng) 2. ระบบคำศัพท์ (词汇系统 cíhuìxìtǒng)3.ระบบไวยกรณ์(语法系统 yǔfǎxìtǒng)โดยไม่รวมระบบการเขียนหรือระบบอักษร ซึ่งเป็นสิ่งที่คนเราสามารถกำหนดหรือเปลี่ยนแปลงได้ พูดง่าย ๆ ก็คือระบบการเขียนเป็นแค่เปลือกนอกของภาษา ในขณะที่ส่วนประกอบสามส่วนดังกล่าวนี้เป็นเนื้อใน ถ้าเปรียบเทียบกับคนก็เหมือนเสื้อผ้ากับร่างกายไม่ว่าเราจะใส่เสื้อทรงไหน ยี่ห้อใด ตัวเราเองก็ยังเป็นตัวเราเอง

ความรู้และหลักการทางวิชาภาษาศาสตร์เปรียบเทียบเชิงประวัติศาสตร์ (历史比较语言学 lìshǐbǐjiàoyǔyánxué Historical comparative linguistics)สามารถช่วยอธิบายว่าความคล้ายคลึงกันระหว่างภาษาไทยกับภาษาจีนเกิดจากสาเหตุอะไร ซึ่งปัจจุบันนี้ ทางจีนก็มีผลงานการวิจัยในด้านนี้ค่อนข้างเยอะ และน่าสนใจเป็นอย่างยิ่ง เพราะว่านอกจากสามารถเจาะลึกความสัมพันธ์ระหว่างสองภาษานี้แล้ว ยังช่วยให้เรามองเห็นภาพรวมสำหรับความสัมพันธ์ในอดีตของชนเผ่าหรือชนชาติซึ่งเป็นเจ้าของสองภาษานี้ได้ชัดเจนมากขึ้น จนนำไปสู่การช่วยไขปริศนาที่เกี่ยวกับต้นกำเนิดของชนชาติไทยอย่างสร้างสรรค์และถูกต้องตามหลักวิชาการ แต่ผมรู้สึกน่าเสียดาย เพราะที่ผ่านมายังไม่ค่อยมีนักวิชาการไทยให้ความสนใจกับผลงานการวิจัยของนักวิชาการจีนในด้านนี้อย่างจริงจัง ผมเคยฟังคำบรรยายของนักวิชาการไทยบางท่านที่ถูกยกให้เป็นผู้เชี่ยวชาญในด้านนี้ พูดไปสองสามชั่วโมงยังไม่เห็นมีเนื้อสักชิ้น มีแต่น้ำ(ลาย) คือเดาไป(ตามหลักการ)เรื่อยเปื่อย ไม่มีหลักฐานอะไรเลย

อย่างไรก็ตาม สำหรับประเด็นนี้ถ้าจะอธิบายอย่างละเอียดคงต้องเขียนหนังสืออีกเล่นหนึ่งขึ้นมาแนะนำโดยเฉพาะ ในที่นี้ผมแค่สรุปผลงานการวิจัยของนักวิชาการที่ผมเชื่อว่า สองภาษานี้เป็นสองภาษาที่มีความสัมพันธ์ทางสายเลือด(亲属语言 qīnshǔyǔyán)เนื่องจากบรรพบุรุษของเจ้าของภาษาสองภาษานี้เคยดำเนินชีวิตอยู่ในบริเวณที่ใกล้เคียงกันและเคยมีความสัมพันธ์อย่างใกล้ชิดในสมัยดึกดำบรรพ์ หรืออาจจะเป็นเผ่าเดียวกันที่แตกแยกออกจากกัน จนกลายเป็นคนละเผ่าในทีหลังก็ได้ ซึ่งอาจต้องย้อนไปเป็นหมื่น ๆ ปีเลยทีเดียว จึงสงผลทำให้สองภาษานี้มีส่วนที่เหมือนกันหรือคล้ายคลึงกันเป็นจำนวนมากมายจนถึงทุกวันนี้อย่างไม่น่าเชื่อ (ในส่วนนี้ไม่รวมคำศัพท์ภาษาแต้จิ๋ว หรือภาษาท้องถิ่นของภาษาจีนอีกหลายภาษาที่ถูกนำมาใช้ในภาษาไทยในปัจจุบันเพราะคำศัพท์เหล่านี้เข้ามาในภาษาไทยอย่างมากก็ไม่กี่ร้อยปีตามชาวจีนที่อพยพมา) เราสามารถกล่าวได้ว่า นอกจากภาษาต่าง ๆ ที่จัดอยู่ในกลุ่มภาษาไท (Tai ซึ่งมีภาษาไทยเป็นภาษาที่สำคัญภาษาหนึ่งในกลุ่มนี้) แล้ว ในโลกคงไม่มีภาษาไหนใกล้เคียงกับภาษาไทยมากว่าภาษาจีนอีกแล้ว

      

ที่มา: หนังสือจุ๊กจิ๊กจอจีน เล่ม1 ผู้เขียน เหยินจิ่งเหวิน

Leave a comment